จานดาวเทียม, ข้อมูลเทคนิค, สื่ออื่นๆ

ช่องหาย!!! เกิดอะไรขึ้น

ช่องหาย!

สามารถเกิดได้จากหลายกรณี แต่เป็นความโชคดีที่เรามีระบบ OTA ทำให้เราได้อัพเดตข้อมูลต่างๆแบบทันที จึงทำให้เรารู้ได้ทันทีว่ามีช่องเพิ่มหรือช่องไหนหายไปค่ะ วันนี้เรามาทำความเข้าใจช่องที่หายไปกันค่ะ ว่าเป็นเพราะอะไร?

ช่องหาย เกิดจาก ผู้ประกอบการช่องนั้นๆได้ยกเลิกการออกอากาศ เรียกง่ายๆว่าเลิกกิจการนั่นเอง
ให้เข้าใจง่ายๆ แบบเร็วๆเลยนะคะ ว่าการประกอบธุรกิจช่องทีวีหนึ่งช่อง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก (บางช่องเรียกว่ามหาศาล) สังเกตง่ายๆจากราคาการประมูลช่องทีวีดิจิตอลที่เราเห็นๆตามหน้าข่าวกันเอาค่ะ นี่แค่ค่าเช่าสัญญาณการออกอากาศเท่านั้นนะคะ ไม่รวมถึงราคาในการผลิตรายการ จ้างดารา ทีมงาน เครื่องไม้เครื่องมือและอื่นๆอีกมากมาย แบบนี้จะไม่ให้เรียกว่า มหาศาล ได้อย่างไร

ทั้งนี้ช่องต่างๆ ก็หวังที่จะขายโฆษณาให้ได้เต็มที่ ด้วยหวังแย่งเม็ดเงินค่าโฆษณาที่รู้กันว่าสูงเหลือเกิน ซึ่งทุกช่อง ทุกคนต่างก็จับตามองเงินก้อนนี้ตาเป็นมัน ด้วยความมั่นใจว่าช่องตัวเองดี เนื้อหาเจ๋ง ต้องดึงคนดู ผู้ซื้อและเอเจนซี่โฆษณาได้แน่นอน แต่หารู้ไม่ล่ะค่ะว่า แท้จริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะฉกเงินก้อนโตนั้นเลย จึงเป็นเหตุผลหลักๆ ทำให้ขาดรายได้ในการดำเนินธุรกิจ จึงต้องยอมสละเรือ(ช่อง) ให้เหลือชีวิตได้ไปทำอย่างอื่นแทน เข้าใจนะว่าบางช่อง บางรายการ ดีมากจริงๆ ไม่อยากให้หายไปเลย แต่ก็ต้องเข้าใจและเห็นใจผู้ประกอบการเหล่านั้นจริงๆค่ะ หลังจากที่เห็นว่าช่องไปไม่ไหวจริง ช่องจะทำการแจ้งข้อมูลกับ กสทช. และแจ้งมายังโครงข่าย(เจ้าของกล่อง) ให้ทราบและทำการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ชมได้รับรู้ค่ะ

 

ช่องหาย เกิดจากการย้ายลำดับช่อง
เนื่องจากกล่องพีเอสไอสามารถรับชมช่องได้มากกว่า 100 ช่อง บางช่องที่เราเคยดูเป็นประจำ เราจะเริ่มจำเลขช่องได้หรือดูค้างไว้ที่ช่องนั้นก่อนปิด เมื่อช่องมีการย้ายลำดับ โดยอาจไม่แจ้งให้ผู้ชมทราบก่อนล่วงหน้า เมื่อเปิดทีวีมาอีกครั้ง ก็เห็นช่องที่เคยดูนี้จอดำหรือกลายเป็นช่องอื่นแทน กรณีนี้อาจจะต้องไล่เช็คช่องในลำดับต่างๆ ว่าช่องที่เราดูนั้นย้ายไปตรงไหน หรือสอบถามที่ช่องต่างโดยตรงได้เลยค่ะ ปล.ปัญหาดังกล่าวจะมีน้อยมากกกก หรือไม่มีเลยค่ะ

ช่องหาย เกิดจากกล่องไม่ได้ OTA เลย
เป็นไปได้ว่ากล่องที่เราใช้ทุกวันหรือดูทีวี เราก็จะดูแต่ช่องเดิมๆ หลักๆ ไม่กี่ช่อง แต่เมื่อกบ่องไม่ได้มีการ OTA เลย ก็จะไม่ได้รับข้อมูลใหม่และการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นเลยนั่นเอง หรือถ้ากล่องรุ่นที่เก่ามาๆและไม่ได้ทำการ OTA เป็นเวลานาน จำเป็นต้องยกเครื่องไปอัพเดตที่ร้านตัวแทนช่างมาตรฐานพีเอสไอ หรือศูนย์สาขาพีเอสไอใกล้บ้านท่านนะคะ

ดังนั้น พอรู้หลักการประมาณนี้แล้ว ก็จะได้เข้าใจว่า..
1. ทุกเดือนหรือทุก 15 วันเราต้องทำการ OTA เครื่อง โดยการถอดปลั๊กเครื่องแล้วเสียบใหม่ ให้กล่องเขาทำการอัพโหลดให้เสร็จสมบูรณ์ 100% เสมอ
2. การเปลี่ยนแปลงต่างๆเกิดจากเจ้าของช่องหรือผู้ประกอบการจริงๆ